
การออกแบบที่อยู่อาศัยให้ยั่งยืน เป็นเรื่องของทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยคุณนิธิศ สถาปิตานนท์ บริษัท A49

ปัจจุบันนี้ในวงการสถาปัตยกรรม หรือวงการก่อสร้าง เรามักจะได้ยินได้เห็นคำนี้อยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือความยั่งยืน หรือ Sustainability
“Sustainable” ถูกใช้แรกๆ โดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อมาเมื่อสถาปัตยกรรมได้ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้ความหมายที่สื่อถึง งานสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของธรรมชาติ ซึ่งแนวความคิดนี้มีเป้าหมายที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ มีผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงการขยาย สืบต่อ หรือทำให้โลกสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและคงอยู่เพื่อมนุษยชาติในรุ่นต่อๆ ไปได้ในอนาคต
ทีมงานแซง-โกแบ็ง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนวงการสถาปนิกในประเทศไทย คุณนิธิศ สถาปิตานนท์ Executive Director บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 (ภูเก็ต) จำกัด กับความคิดเห็นในเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability ในวงการสถาปนิกกันครับ
-
อยากให้แนะนำตัว และบริษัทของคุณนิธิศคร่าวๆ
ผมนิธิศ สถาปิตานนท์ นะครับ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Executive Director ที่บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 (ภูเก็ต) จำกัด
บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด หรือเรียกสั้นๆ ว่า A49 เป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและเป็นบริษัทแม่ของเครือ 49 Group ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทที่ให้บริการด้านการออกแบบแขนงต่างๆรวม 15 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน ภูมิทัศน์ วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมงาน ระบบกราฟฟิกดีไซน์ หรือการออกแบบแสงสว่าง เราทำได้หมด สิ่งเดียวที่เราไม่ทำคือ ก่อสร้าง ครับ
2. ในมุมมองของสถาปนิกขอทราบ Trend การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับ Sustainability
ปัจจุบัน ผมมองว่าคนส่วนมากให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainability นะครับ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของโลกเรามันแย่ลงไปกว่าแต่ก่อนมาก มนุษย์รู้ตัวแล้วว่าถ้าไม่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การจัดการอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างด้วย ลูกหลานเราจะต้องใช้ชีวิตต่อไปด้วยความยากลำบากและทรมานแน่ๆ
สถาปนิกเป็นหนึ่งในอาชีพต้นๆที่มีส่วนทำให้โลกเราแย่ลง การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับแนวความคิด sustainability มันควรจะอยู่ในจิตใต้สำนึกของสถาปนิกทุกคนอยู่แล้ว ผมเลยไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่า Trend ได้มั้ย เนื่องจาก Trend นี้มันจะอยู่กับเราไปอีกนานจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
อย่างไรก็ตามการออกแบบที่อยู่อาศัยให้ยั่งยืนมันไม่สามารถเกิดขึ้นโดยสถาปนิกแต่ผู้เดียว แต่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมนั้นๆจะต้องมีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านหรือนายทุน ไปจนถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ (suppliers) ด้วย
3. คิดว่า Sustainability มีความสำคัญหรือไม่ และในฐานะผู้ออกแบบ คิดว่ามีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง
มีความสำคัญแน่นอนครับตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในฐานะผู้ออกแบบ คงต้องเริ่มต้นจาก แนวความคิดที่ ทำอย่างไรถึงจะใช้พลังงานน้อยที่สุดในการก่อสร้าง เลือกใช้วัสดุแบบไหนที่ใช้พลังงานน้อยในการผลิต มีวัสดุอะไรที่ทดแทนวัสดุจากธรรมชาติได้บ้างหรือถ้าเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ก็ควรจะเป็นวัสดุธรรมชาติที่มาจากอุตสาหกรรมยั่งยืน เช่น ป่าปลูก เป็นต้น และหลังจากผู้อยู่อาศัยเข้าไปใช้งานในอาคารแล้ว สามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบายโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด อาจจะเป็นการนำอุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรืออุปกรณ์ที่ใช้ passive energy อย่าง solar panels มาช่วยผลิตพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ประมาณนี้ครับ
4. บริษัทแซง-โกแบ็ง ไทยแลนด์ ได้เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเป็นส่วนหนึ่งในการคิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดการใช้พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและผู้อยู่อาศัย มีความเห็นอย่างไรบ้าง
ก็ดีสิครับ มันจะไม่ดีได้อย่างไร ฟังดูแล้วเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ในอุดมคติเลยนะครับคือ คิดครอบคลุมทุกด้านเลย
5. ความเห็นของท่านต่อการที่ Saint-Gobain ได้ร่วมลงนามพันธะสัญญา Net Zero Carbon emissions by 2050 หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (การจัดการกระบวนการผลิต การขนส่ง การนำไปใช้ และการจัดการหลังจากมีการรื้อถอนหรือทำลาย)
ผมยังไม่ได้ศึกษาถึงรายละเอียดของพันธสัญญานี้นะครับ แต่พอบอกได้ว่ามันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ในทุกขั้นตอนด้วย มันก็น่าจะมีแต่ข้อดีหรือเปล่าครับ สุดยอดเลย
ผมว่าการที่ Saint-Gobain มีวิสัยทัศน์แบบนี้ มันดีมากๆ เลยนะครับ อย่างที่ผมได้พูดไป โลกเราจะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน พวกเราทุกคนต้องช่วยกันครับ และการที่ supplier มีแนวความคิดแบบนี้และทำผลิตภัณฑ์อย่างที่ Saint-Gobain เล่าให้ฟังออกมาได้จริง มันจะช่วยให้สถาปนิกออกแบบแบบยั่งยืนได้ง่ายขึ้นเยอะและที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยโลกได้มากเลยครับ